หน้าถูกกึ่งป้องกัน

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไปยังการนำทางไปยังการค้นหา

พลเอก
ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ม.ป.ช.ม.ว.ม.ต.จ.ว.ร.ม.ก.
ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใน พ.ศ. 2561
นายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 29
อยู่ในวาระ
เริ่มดำรงตำแหน่ง
24 สิงหาคม 2557
รักษาการ: 22 พฤษภาคม – 24 สิงหาคม 2557
(6 ปี 181 วัน)
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
รองนายกรัฐมนตรี
ก่อนหน้ายิ่งลักษณ์ ชินวัตร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
อยู่ในวาระ
เริ่มดำรงตำแหน่ง
10 กรกฎาคม 2562
(1 ปี 226 วัน)
นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา
ก่อนหน้าประวิตร วงษ์สุวรรณ
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ดำรงตำแหน่ง
22 พฤษภาคม 2557 – 16 กรกฎาคม 2562
(5 ปี 55 วัน)
ผู้บัญชาการทหารบก
ดำรงตำแหน่ง
1 ตุลาคม 2553 – 30 กันยายน 2557
(3 ปี 364 วัน)
ก่อนหน้าอนุพงษ์ เผ่าจินดา
ถัดไปอุดมเดช สีตบุตร
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด21 มีนาคม พ.ศ. 2497 (66 ปี)
จังหวัดนครราชสีมา ประเทศไทย
พรรคการเมืองอิสระ[a]
บิดาพันเอก ประพัฒน์ จันทร์โอชา
มารดาเข็มเพชร จันทร์โอชา
คู่สมรสนราพร จันทร์โอชา
บุตร2 คน
ศิษย์เก่าวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
ทรัพย์สินสุทธิ128.6 ล้านบาท (2557)
ลายมือชื่อ
การเข้าเป็นทหาร
สังกัดกองทัพบกไทย
ประจำการ2519–2557
ยศRTA OF-9 (General).svg พลเอก
บังคับบัญชาFlag of the Royal Thai Army.svg กองทัพบก

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ชื่อเล่น ตู่ เกิด 21 มีนาคม 2497) เป็นนักการเมืองและนายทหารบกชาวไทย หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งก่อรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 และเป็นคณะรัฐประหารที่ปกครองประเทศไทยในปี 2557 ถึง 2562 เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 29 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนปัจจุบัน

เขาเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 23 และเป็นศิษย์เก่าวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เข้ารับราชการครั้งแรกที่กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ จากนั้นได้รับราชการในสังกัดกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ตามลำดับ นอกจากนั้นเขายังอยู่ในกลุ่มทหารบูรพาพยัคฆ์และทหารเสือราชินี เขาเป็นอดีตผู้บัญชาการทหารบกซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างเดือนตุลาคม 2553 ถึงตุลาคม 2557 หลังการแต่งตั้ง เขามีลักษณะนิยมเจ้าอย่างเข้มข้น และปรปักษ์ของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ถือได้ว่าเขาเป็นสายแข็ง (hardliner) ในกองทัพ เป็นผู้สนับสนุนแนวหน้าของการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในเดือนเมษายน 2552 และเมษายน–พฤษภาคม 2553[1] ต่อมาเขามุ่งวางตนเป็นกลาง โดยพูดคุยกับญาติผู้ประท้วงที่เสียชีวิตในเหตุการณ์[2] และร่วมมือกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์[3] ซึ่งชนะการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2554 ระหว่างวิกฤตการณ์การเมืองซึ่งเริ่มในเดือนพฤศจิกายน 2556 ต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เขาอ้างว่ากองทัพเป็นกลาง[4] และจะไม่รัฐประหาร ทว่า เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พลเอกประยุทธ์รัฐประหาร[5] สุเทพ เทือกสุบรรณเปิดเผยว่า ตนกับประยุทธ์วางแผนโค่นทักษิณด้วยตั้งแต่ปี 2553[6]

วันที่ 21 สิงหาคม 2557 สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติเอกฉันท์เลือกเขาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งสมาชิกสภานั้นถูก คสช. เลือกมาทั้งหมด[7] คสช. สั่งปราบปรามผู้เห็นแย้ง ห้ามการอภิปรายสาธารณะเกี่ยวกับประชาธิปไตยและการวิจารณ์รัฐบาล จำกัดเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทยอย่างหนัก[8] ในปี 2561 มีหนังสือประวัติศาสตร์กล่าวว่าเขาปฏิรูปประชาธิปไตย และขจัดการฉ้อราษฎร์บังหลวง ในปี 2562 รัฐสภาลงมติเลือกเขาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย โดยรวมสมาชิกวุฒิสภาทุกคน และพรรคร่วมรัฐบาล 19 พรรคในสภาผู้แทนราษฎร

ประวัติ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2497 ที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นบุตรชายของพันเอก (พิเศษ) ประพัฒน์ จันทร์โอชา[9]และเข็มเพชร จันทร์โอชา มารดาซึ่งรับราชการครู[10][11] พลเอก ประยุทธ์มีชื่อเล่นว่า "ตู่" หรือที่สื่อมวลชนนิยมเรียกว่า "บิ๊กตู่" และ "ลุงตู่"[12] เป็นบุตรชายคนโตจากพี่น้องทั้งหมดสี่คน[13] คนหนึ่งคือ พลเอก ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหมและอดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก

การศึกษา

  • พ.ศ. 2514 – โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 12
  • พ.ศ. 2519 – โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 23
  • พ.ศ. 2519 - หลักสูตรชั้นนายร้อย รุ่นที่ 51
  • พ.ศ. 2524 – หลักสูตรชั้นนายพัน รุ่นที่ 34
  • พ.ศ. 2528 – หลักสูตรหลักประจำโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 63
  • พ.ศ. 2550 – หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน รุ่นที่ 20

เขาสำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 จากโรงเรียนสหะกิจวิทยา อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ซึ่งเข็มเพชร มารดาซึ่งเป็นครูสอนอยู่ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยเทคโนโลยีลพบุรี[14] ต่อมาได้เข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี แต่เรียนได้เพียงปีเดียวก็ลาออกเนื่องด้วยบิดาเป็นนายทหารจำต้องโยกย้ายไปในหลายจังหวัด และได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ในสมัยที่ศึกษาอยู่ที่นี่เขาเคยถูกนำเสนอประวัติผ่านนิตยสารชัยพฤกษ์ ในฐานะเด็กเรียนดีอีกด้วย จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมทหาร จนสำเร็จเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 (ตท.12) และเป็นนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 23 และเป็นศิษย์เก่าวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

รับราชการทหาร

พลเอก ประยุทธ์รับราชการทหารอยู่ที่กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ หรือ "ทหารเสือราชีนี" มาโดยตลอด โดยเริ่มมาจากตำแหน่งผู้บังคับการกองพัน จนถึงผู้บังคับการกรม จากนั้นจึงย้ายไปอยู่ที่กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ และรับตำแหน่งรองแม่ทัพภาคที่ 1 เขาเป็นสมาชิก "บูรพาพยัคฆ์" ในกองทัพ เช่นเดียวกับพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและอดีตสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและอดีตรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งทั้งสองยังเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

ประยุทธ์ ครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ซ้าย) เมื่อเดือนมิถุนายน 2555
  • 28 เมษายน พ.ศ. 2530 - พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง เป็น ราชองครักษ์เวร[15]
  • พ.ศ. 2533 – ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารบกที่ 21 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.21 พัน 2 รอ.)
  • พ.ศ. 2541 – ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.21 รอ.)
  • พ.ศ. 2546 – ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ผบ.พล. ร 2 รอ.)
  • พ.ศ. 2549 – แม่ทัพภาคที่ 1 (มทภ. 1 )
  • พ.ศ. 2551 – เสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ.)
  • 15 มกราคม พ.ศ. 2552-ปัจจุบัน - พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เป็นนายทหารราชองครักษ์พิเศษ[16]
  • พ.ศ. 2552 – รองผู้บัญชาการทหารบก (รอง ผบ.ทบ.)
  • พ.ศ. 2553 – ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)[17]

บทบาททางการเมือง

วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เมื่อเกิดรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) พลตรีประยุทธ์เป็นผู้รับคำสั่งตรงจากพลโท อนุพงษ์ เผ่าจินดา แม่ทัพภาคที่ 1 พลตรีประยุทธ์ได้เลื่อนชั้นยศเป็น "พลโท" และรับตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 และได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ระหว่างวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2551 ถึง 14 กันยายน พ.ศ. 2551 เขาดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินและรองผู้อำนวยการกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในเหตุการณ์ นปช. ปะทะกับกลุ่มพันธมิตรฯ 2 กันยายน พ.ศ. 2551 สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช, วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ถึง 30 กันยายน พ.ศ. 2552 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาธิการทหารบก[18] และต่อมาเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ถึง 30 กันยายน พ.ศ. 2553, วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2552 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ปฏิบัติงานในกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทย เมษายน พ.ศ. 2552 เนื่องจากดำรงตำแหน่งเป็นเสนาธิการทหารบกในขณะนั้นจนสิ้นสุดการประกาศสถานการณ์ในวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2552

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2553 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารบกต่อจาก พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่เกษียณอายุราชการในเดือนตุลาคม 2553[19] อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะลงนามแต่งตั้งให้เขาเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ถึง 22 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในนายทหารที่ควบคุมการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พ.ศ. 2553[20]ในวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 พลเอกประยุทธ์ ได้ออกคำสั่งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ 141/2553 เรื่อง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจ ออกคำสั่งยึด หรือ อายัด สินค้าหรือวัตถุอื่นใดที่ก่อให้เกิดความแตกแยก ผู้ใดฝ่าฝืนข้อห้ามคำสั่งนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548[21]คำสั่งดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจนต้องยกเลิกในที่สุด

เขายังเป็นหนึ่งในคณะดำเนินคดีระหว่างประเทศไทยและกัมพูชาในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเมื่อปี 2554[22]และในวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด[23]

ฮิวแมนไรตส์วอตช์ระบุว่า เขาขัดขวางการสืบสวนวิกฤตการณ์การเมืองซึ่งมีผู้เสียชีวิตในปี 2553[24] และต่อมาเมื่อเดือนมิถุนายน 2554 เขาขอให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงให้ "คนดี" ในการเลือกตั้งปีนั้น ซึ่งถูกตีความอย่างกว้างขวางว่าเป็นการให้สัมภาษณ์โจมตียิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยโดยตรง[24] และในระหว่างวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 เขาก็ได้เสนอให้มีการจัดตั้ง "สภาประชาชน" ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง[24]

รัฐประหาร พ.ศ. 2557 และนายกรัฐมนตรีสมัยแรก

วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เขาประกาศกฏอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร อีก 2 วันต่อมาเขาก่อรัฐประหาร ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)[25] ในประกาศ คสช. ฉบับที่ 10/2557 ให้อำนาจเขาเสมือนนายกรัฐมนตรี[26] หลังรัฐประหาร เขาแต่งตั้งตัวเองเป็นกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ และเป็นกรรมการโดยตำแหน่งในฐานะนายกรัฐมนตรี[b] เขาจัดรายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" รายสัปดาห์[66]

ในการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อ ปปช. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2557 เขาแจ้งทรัพย์สิน 128.6 ล้านบาท หนี้สิน 650,000 บาท[67][68] ทรัพย์สินรวมรถยนต์เมอร์ซีเดส เบนซ์ และบีเอ็มดับเบิลยู อย่างละ 1 คน นาฬิกาหรู 9 เรือน มูลค่า 3 ล้านบาท[69] มีเครื่องเพชรมูลค่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐและปืนพกหลายกระบอก[70] เขารายงานว่าได้โอนทรัพย์สิน 466.5 ล้านบาทให้แก่ฐาติ ทั้งนี้เงินเดือนในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกได้เงินเดือนรวมปีละ 1.4 ล้านบาท[71][72]

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2557 สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติให้พลเอก ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี[73] ในการลงมติดังกล่าว ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อไม่ต้องอยู่ในห้องประชุมและไม่ต้องแสดงวิสัยทัศน์[74] ต่อมามีพิธีรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งในวันที่ 25 สิงหาคม 2557[75][76] พลเอก ประยุทธ์เป็นนายทหารอาชีพคนแรกที่เป็นนายกรัฐมนตรีนับแต่พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549[77] เขายังเป็นผู้นำรัฐประหารคนแรกที่เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่จอมพล ถนอม กิตติขจร เมื่อ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514[78]

เดือนกันยายน 2557 เขาลงนามแก้ไขข้อกำหนดคุมวินัยผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยผ่อนคลายระเบียบเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน[79] เขายังเสนอ "ค่านิยม 12 ประการ" ส่งเสริมความคิดเรื่องความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน กตัญญู หาความรู้ รักษาประเพณีไทย มีวินัย มีเศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ เขาว่าจะบรรจุลงในแผนปฏิรูปการศึกษาด้วย[80]

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เขาประกาศว่าเขามีอำนาจปิดสื่อ[81] ในเดือนมีนาคม เขาขู่ประหารชีวิตนักหนังสือพิมพ์ที่ "ไม่รายงานความจริง"[82] ความเห็นของเขาพลันถูกสหพันธ์นักหนังสือพิมพ์ระหว่างประเทศประณาม[83] เขาอธิบายว่า หากต้องการทำสำรวจความคิดเห็นก็ทำได้ แต่ถ้าการสำรวจนั้นค้าน คสช. จะห้าม[84]

วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558 เขายกเลิกกฎอัยการศึก[85] จากนั้นเขาใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 44 ในการดูแลความสงบเรียบร้อยแทน

นโยบายเศรษฐกิจ

ในเดือนสิงหาคม 2557 หลังประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เพียงสามวัน คสช. อนุมัติโครงการและงบประมาณรวมกว่า 1 แสนล้านบาท[86] วันที่ 25 ตุลาคม 2557 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มีพลเอกประยุทธ์เป็นประธาน เห็นชอบโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2557/2558 จากเดิมธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจะจ่ายเป็น 80% ของราคาตลาด เพิ่มเป็น 90% ของราคาตลาด นโยบายดังกล่าวถูกเรียกว่า "จำนำยุ้งฉาง" และไทยรัฐ ยังว่าเป็น "ประยุทธ์นิยม"[87]

เขาอ้างว่าภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของไทยไม่ได้เกิดจากรัฐบาลตน แต่เกิดจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก เขาประกาศเป้าหมายยกระดับประเทศไทยจากประเทศรายได้ปานกลางเป็นประเทศรายได้สูงผ่านข้อริเริ่มประเทศไทย 4.0 ซึ่งต้องการเปลี่ยนเศรษฐกิจให้เป็นแบบเน้นมูลค่าและนวัตกรรม โครงการธงคือ ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมอย่างการบิน การรักษาสุขภาพและพลังงานทดแทน[88] เขายังสนับสนุนการช่วยเหลือเกษตรกร เพิ่มการส่งออกยางสู่ประเทศจีน และการทำเหมืองโพแทซเพื่อลดค่าปุ๋ย[89]

ศาสนาพุทธ

ศาสนาพุทธในประเทศไทยเข้ามาอยู่ในภายใต้การควบคุมของรัฐมากขึ้นในสมัยนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ สภาปฏิรูปแห่งชาติที่ คสช. ตั้งมีคณะกรรมการศาสนาด้วย ทั้งนี้ พระพุทธะอิสระเป็นผู้เรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปดังกล่าว ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงเช่น เสนอให้วัดเปิดเผยบัญชี[90] และให้พระสงฆ์ถือบัตรสมาร์ตการ์ด[91][92] ในปี 2559 ประยุทธ์ยับยั้งคำวินิจฉัยเสนอสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เป็นสมเด็จพระสังฆราชของมหาเถรสมาคม[93] ต่อมาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งพระสงฆ์จากธรรมยุติกนิกายแทน[94]

ในปี 2560 เขาใช้อำนาจตามมาตรา 44 เปลี่ยนตัวหัวหน้าสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ[95] แต่เขาถอดออกจากตำแหน่งอย่างรวดเร็วหลังมีกลุ่มศาสนาเรียกร้อง[96] ในเดือนพฤษภาคม 2561 คสช. บุกวัดสี่แห่งเพื่อจับกุมพระสงฆ์หลายรูป[97][98] ซึ่งในจำนวนนั้นรวมพระพุทธะอิสระด้วย[99] โดยมีข้อหารวมทั้งคดีปลอมพระปรมาภิไธยในปี 2560[99][100][101] ทั้งหมดถูกจับสึกอย่างรวดเร็ว[102]

นายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง

ป้ายโฆษณาชวนเชื่อประยุทธ์บนรถไฟฟ้าบีทีเอส

นักหนังสือพิมพ์และนักวิจารณ์การเมืองหลายคนเชื่อว่าประยุทธ์ตั้งใจครองอำนาจต่อโดยใช้การเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญปี 2560[103] โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้วุฒิสภามาจากการคัดเลือกของ คสช. และมีอำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี 5 ปี[104] พรรคการเมืองสามารถเสนอชื่อผู้ที่มิใช่ สส. และมิใช่สมาชิกพรรคเป็นนายกรัฐมนตรีได้[105] หลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 มีการตั้งรัฐบาลผสมที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 5 มิถุนายน พรรคร่วมรัฐบาล 19 พรรคและสมาชิกวุฒิสภาทุกคนเลือกประยุทธ์เป็นานยกรัฐมนตรีต่อ[106]

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2562[107] มีพิธีรับสนองพระบรมราชโองการวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2562


รองศาสตราจารย์ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์​ กล่าวถึงพลเอกประยุทธ์ว่า เขามักปรากฏทางโทรทัศน์แห่งชาติและแลกเปลี่ยนปัญหาและวิธีแก้ไข เขาต้องการพิสูจน์กับประชาชนว่าเขาเป็น "นายรู้ไปหมด" ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าเพราะเขาต้องการส่งสารว่าเขาฉลาดกว่ายิ่งลักษณ์ ปวินยกตัวอย่างภูมิปัญญาของพลเอกประยุทธ์ดังนี้ เขาว่าชาวใต้ควรลดการปลูกยางเพื่อแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ, เขาว่าถ้าคนไทยทุกคนช่วยกันเก็บผักตบชวาจากแม่น้ำแล้วมันจะสูญพันธุ์, เขาว่าอุทกภัยเป็นภัยธรรมชาติ และว่าคนไทยสมัยก่อนปลูกบ้านบนที่สูง บ้างยกพื้นสูง บ้างอาจซื้อเรือ, เขาว่าการบ้านยากเกินไปสำหรับนักเรียน และว่าตนยังทำการบ้านนักเรียน ป. 1 ไม่ได้, เขาให้ชาวนาลดการปลูกข้าวหรือปลูกพืชชนิดอื่นหรือเปลี่ยนงานเกษตรเพื่อแก้ปัญหาราคาข้าว, เขากล่าวถึงปัญหาความยากจนโดยว่า โทษตัวเอง ขยันแล้วหรือยัง, เขาแนะนำคนไทยไม่ให้ช็อปปิงเพราะคนไทยเป็นหนี้จากสถาบันการเงิน เป็นต้น[108]คำพูดต่อสาธารณะ

วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2557 พลเอกประยุทธ์แถลงเรื่องนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ 2 คนซึ่งถูกฆ่าที่เกาะเต่าเมื่อวันที่ 15 กันยายน ว่า "ปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวมีอยู่เสมอ พวกเขาคิดว่าประเทศของเราสวยงามและปลอดภัย ก็เลยทำอะไรที่อยากทำ พวกเขาใส่บิกินี่และเดินไปไหนก็ได้ พวกเขาคิดว่าใส่บิกินี่แล้วปลอดภัยเหรอ...เว้นแต่ว่าไม่สวย" ฝ่ายแอนดรูว์ โรซินเดล (Andrew Rosindell) คณะกรรมาธิการวิสามัญการต่างประเทศของสภาสามัญชน กล่าวว่า "เมื่อผู้ที่รักของผู้เสียหายกำลังอาลัยอาวรณ์ความสูญเสีย เป็นสิ่งไม่เหมาะสมและไม่ละเอียดอ่อนที่มีผู้กล่าวหาผู้ที่ถูกพรากชีวิตไป ยิ่งไม่ต้องเอ่ยถึงนายกรัฐมนตรีของประเทศซึ่งเกิดการฆ่านั้น"[109] อีกสองวันถัดมาพลเอกประยุทธ์ได้กล่าวขอโทษต่อกรณีนี้[110]

วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557 เว็บไซต์ประชาไทรายงานว่า พลเอกประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งว่า จะส่งเสริมให้คนทั้งโลกกินข้าว ขนมจีน กินขนมปังแล้วจะอ้วน[111] วันเดียวกัน เว็บไซต์รัฐบาลไทยรายงานว่า พลเอกประยุทธ์ว่า อุทกภัยในภาคใต้เป็นเรื่องปกติ ปีหนึ่งเกิดสี่ครั้ง เกิดจากน้ำเหนือไหลผ่านภาคกลางลงสู่ภาคใต้[112] ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ

วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2557 เขากล่าวตอนหนึ่งว่า ถ้าอยากมีรถไฟทางคู่ มีรถใหม่ มีรถความเร็วสูงเหมือนต่างประเทศ ให้หาเงินมา[113]

วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2557 พลเอกประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า "ผมทำมากกว่าไอ้รัฐบาลบ้านั่น [รัฐบาลยิ่งลักษณ์] อีก จะบอกให้ และรู้มากกว่าที่เขารู้อีก ผมไม่โง่ขนาดนั้นหรอก"[114]

วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 พลเอกประยุทธ์ใช้คำว่า "ครอก" กับชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งกลับประเทศจีน[115]

วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 เมื่อถูกถามว่ารัฐบาลจะรับผิดชอบอย่างไรต่อกรณีอุทยานราชภักดิ์ เขาตอบว่า ทำไมต้องรับผิดชอบ รัฐบาลขณะนั้น (รัฐบาลยิ่งลักษณ์) ทำไมไม่รับผิดชอบสิ่งที่เป็นปัญหาของประเทศชาติ[116]

วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ประยุทธ์กล่าวถึงกรณีนักวิชาการยื่นหนังสือขอให้หยุดริดรอนเสรีภาพทางวิชาการและห้ามนักศึกษาทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยว่า ตอนรัฐบาลที่แล้วไปอยู่ไหนกัน และ "เดี๋ยวถ้าใครหาปืนมายิง โยนระเบิดใส่ก็ตายไปแล้วกัน"[117]

วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2559 พลเอกประยุทธ์กล่าวว่า "จะมาบอกว่าเป็นนายกฯแล้วต้องอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าพวกคุณเลือกผมมา คุณจะสั่งผมอย่างไรผมจะทำให้ แต่นี่ไม่ได้เลือกผมสักคน"[118]

วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2559 เขากล่าวเรื่องการแต่งกายของหญิง โดยเปรียบว่าหญิงเหมือนขนมหวานที่ต้องอยู่ในห่อจึงน่าสนใจ พอน่ากินแล้วค่อยเปิดดู ถ้าเปิดหมดแล้วจะไม่น่ากิน[119]

วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 เขากล่าวถึงไฟป่าที่ดอยสุเทพและป่าพรุโต๊ะแดง โดยว่าเกิดจากประชาชนที่มีรายได้น้อยเข้าไปในป่าและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ใช้ความคิดแบบโบราณ[120]

วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 เขากล่าวถึงปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนตอนหนึ่งว่า แล้วออกกันหมดหรือยัง [คนที่ทำผิดตามประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ] มีกักอยู่หรือเปล่า ก็ไม่มี แล้วอยู่ไหน ที่เหลือมีความผิด ก็เข้าศาลกระบวนการยุติธรรม แล้วก็ประกันออกมา มีที่ไหนเหลืออยู่ ถามสิ แล้วตอนไปก็ออกมาไม่ได้ซ้อมไม่ได้อะไร ก็ถ่ายรูปไว้หมด เข้าไปก็มีหมอมาตรวจร่างกายออกมาก็มีหมอมาตรวจอีก ผมทำขนาดนี้แล้วท่านยังมาหาว่าผมทำนี่ทำโน้นได้อย่างไร ไปเป็นปากเป็นเสียงให้กับคนชอบทำความผิดได้อย่างไร[121]

การขายที่ดิน

วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 เขาขายที่ดิน 9 แปลงให้บริษัท 69 พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เป็นเงิน 600 ล้านบาท ซึ่งสำนักข่าวอิศรารายงานว่า บริษัทดังกล่าวตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 หนึ่งสัปดาห์ก่อนการขาย มีบริษัท ทรงวุฒิ บิสซิเนส จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม วินเทค โปรฟิท คอมปะนี ลิมิเต็ด ไทรเด้นท์ ทรัส ลิมิเต็ด ไทรเด้นท์ แซมเบอร์ได้รับโอนหุ้นจากบริษัท ทรงวุฒิ บิสซิเนส จำกัด ซึ่งที่ตั้งของบริษัทนั้นเป็นตู้ไปรษณีย์แห่งหนึ่งในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ต่อมามีการเพิ่มทุนและจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงที่ตั้ง มีกรรมการเป็นกรรมการบริษัทในเครือทีซีซีแลนด์ของเจริญ สิริวัฒนภักดี[122]

การถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ

วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 พลเอกประยุทธ์นำคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 62 เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่[123][124] แต่หลังจากนั้น ในวันที่ 25 กรกฎาคม ปีเดียวกัน ก่อนการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้หารือกับชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา โดยได้ตั้งข้อสังเกตว่าพลเอกประยุทธ์ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงเป็นประเด็นสงสัยถึงความสมบูรณ์ของความเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์และคณะรัฐมนตรีชุดนี้ โดยภายหลังออกจากสภา ปิยบุตรก็ได้โพสต์คลิปการถวายสัตย์ปฏิญาณของพลเอกประยุทธ์จากข่าวในพระราชสำนักลงในทวิตเตอร์ไว้เป็นหลักฐานอีกด้วย[125] ทำให้มีผู้ยื่นคำร้องในเรื่องนี้ต่อผู้ตรวจการแผ่นดินถึง 2 ราย โดยผู้ตรวจการแผ่นดินได้เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ 1 กรณี[126] แต่ศาลมีมติไม่รับคำร้องดังกล่าว[127] นอกจากนี้ประเด็นนี้ยังนำไปสู่การเปิดอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เพื่อซักถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณของพลเอกประยุทธ์เมื่อวันที่ 18 กันยายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายก่อนปิดสมัยประชุมสภาอีกด้วย[128]

ผลงานเพลง

  • พ.ศ. 2557 ได้แต่งเพลง คืนความสุขให้ประเทศไทย เพื่อสื่อความหมายจากใจที่ต้องการคืนความสุขให้ประชาชน โดยมอบให้วิเชียร ตันติพิมลพันธุ์ นักแต่งเพลงประกอบละครชื่อดัง เป็นผู้เรียบเรียงเนื้อร้องประกอบทำนอง และขับร้องโดยกองดุริยางค์ทหารบก ได้เผยแพร่เป็นครั้งแรกในรายการใต้ร่มธงไทย ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงกองทัพบก เมื่อ 6 มิถุนายน 2557 ความยาว 4 นาที[129]
  • พ.ศ. 2558 ได้แต่งเพลง เพราะเธอคือ...ประเทศไทย เป็นของขวัญในเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2559[130]โดยมอบให้วิเชียร ตันติพิมลพันธุ์ นักแต่งเพลงประกอบละครชื่อดัง เป็นผู้เรียบเรียงเนื้อร้อง ทำนองและเรียบเรียงมี พันตรี สุระชัย ถวิลไพร ขับร้องโดย จ่าสิบเอก พงศธร พอจิต ซึ่งเป็นผู้ขับร้องเพลงคืนความสุขให้ประเทศไทย มาขับร้องเพลงนี้ ได้เผยแพร่เป็นครั้งแรกให้สื่อมวลชนฟังระหว่างรอการแถลงข่าวของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 ความยาว 4 นาที[131][132]
  • พ.ศ. 2559 ได้แต่งเพลง ความหวังความศรัทธา โดยมีจุดมุ่งหมายถึง ความหวังความศรัทธาที่จะสามารถสร้างพลังยิ่งใหญ่ได้ แต่คนไทยทั้งชาติจะต้องร่วมมือร่วมใจ และรวมพลังของความเป็นไทยอย่างไม่ท้อแท้เพื่อไปสู่เป้าหมาย โดยมอบให้พันตรี สุระชัย ถวิลไพร เป็นผู้เรียบเรียงและทำนอง และมี จ่าสิบเอก พงศธร พอจิต เป็นผู้ขับร้อง[133][134]
  • พ.ศ. 2560 ได้แต่งเพลง สะพาน โดยมีจุดมุ่งหมายถึง คณะรัฐมนตรี ข้าราชการทหาร ตำรวจและประชาชนที่จะต้องเป็นสะพานก้าวข้ามความขัดแย้ง ก้าวข้ามสิ่งเก่า ๆ ที่ไม่ได้พัฒนาไปสู่สิ่งที่พัฒนาเพื่อปฏิรูปประเทศ ฉะนั้นทุกคนต้องร่วมมือร่วมกัน สะพานจะไม่สามารถก้าวข้ามผ่านไปได้ ถ้าทุกคนยังวนเวียนอยู่กับเรื่องความขัดแย้งเดิม และความคิดเดิม[135][136]
  • พ.ศ. 2561
  1. ได้แต่งเพลง ใจเพชร โดยมีจุดมุ่งหมายถึง เป็นการบ่งบอกถึงความพยายามในการแก้ปัญหาโดยไม่หวาดหวั่นอุปสรรคข้างหน้า พร้อมจะสู้ไปด้วยกันอย่างไม่ท้อถอย เมื่อมีศรัทธา และจับมือเดินหน้าไปด้วยกัน ก็ไม่ต้องกลัวปัญหาที่รออยู่ข้างหน้า[137]
  2. ได้แต่งเพลง สู้เพื่อแผ่นดิน โดยมีจุดมุ่งหมายถึง เป็นเพลงช้า เนื้อหาบ่งบอกถึงความพยายามทำเพื่อประเทศชาติ แม้จะมีคำติฉินนินทาหรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่เป็นอุปสรรค เพราะทำทุกอย่างด้วยหัวใจซื่อตรง เพื่อให้พรุ่งนี้ดีกว่าเดิม[138]
  • พ.ศ. 2562
  1. ได้แต่งเพลง ในความทรงจำ โดยมีเนื้อหาในทำนองว่า ที่ผ่านมาเราเคยเดินผ่านเรื่องที่ปวดร้าว การทำลาย และวันนี้เดินมาจนจะหลุดพ้นและเริ่มสร้างความมั่นคง ดังนั้นขอให้ไม่ลืมง่ายๆอย่าให้ใครมาทำลายอย่างที่เคยมา จะต้องทำอย่างไรไม่ให้ซ้ำเดิม ขอให้คิดให้ดี และขอให้คิดใหม่[139]
  2. ได้แต่งเพลง วันใหม่[140]
  3. ได้แต่งเพลง มิตรภาพ ในโอกาสฉลองความสำเร็จการก่อสร้างและเปิดสะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชาที่บ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว[141][142]
  4. ได้แต่งเพลง มาร์ชไทยคือไทย แต่งขึ้นในช่วงหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่ได้เห็นถึงความสามัคคีและความจงรักภักดีของชาวไทยที่ร่วมใจถวายต่อพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนระลึกถึงความเสียสละของบรรพบุรุษที่ทำให้ประเทศไทยสามารถสืบสาน ดำรงความเป็นชาติที่มีวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่มาถึงทุกวันนี้ [143]

รางวัล

  • พ.ศ. 2554 – อันดับ 1 สุดยอดซีอีโอของภาคราชการและเจ้าหน้าที่รัฐแห่งปี 2554 จากผลการสำรวจของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์[144]

ครอบครัว

ปัจจุบันสมรสกับรองศาสตราจารย์ นราพร จันทร์โอชา รองประธานมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม มีบุตรฝาแฝด 2 คน คือ ธัญญา และ นิฏฐา จันทร์โอชา เป็นสมาชิกวงดนตรีทริโอหญิง แบดซ์ วงดนตรีแนวพังก์ในสังกัดย่อย จีโนม เรคคอร์ด สังกัดอาร์เอส[145][146]

ภาพลักษณ์